สงครามในพื้นที่ทางความทรงจำ

ภายหลังที่คริสตศาสนาสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งในความชอบธรรมทางการเมืองการปกครองของจักรวรรดิโรมัน ผ่านการประสานผลประโยชน์ด้วยความชอบธรรมฝ่ายคริสตศาสนาแก่กษัตริย์ผู้ครองจักรวรรดิในฐานะผู้ได้รับอาณัติจากสวรรค์อันเป็นอีกหนึ่งความชอบธรรมที่ได้กลายเป็นฐานคิดเรื่องความชอบธรรมของเจ้าผู้ปกครองในยุคหลัง ศพของบรรดานักบุญทั้งหลายแหล่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเจ้าผู้ปกครองในฐานะรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งได้กลายเป็นเครื่องมือในการดึงดูดหรือเรียกร้องมวลชนผ่านกระแสธารแห่งศรัทธาที่หลั่งไหลเข้าสู้พื้นที่อำนาจนำของกษัตริย์อันมีศาสนจักรคอยเกื้อหนุน ซึ่งจากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเครื่องมือที่บรรจุความทรงจำไม่ว่าจะดำรงอยู่ด้วยข้อผูกพันธ์ทางความเชื่อหรืออุดมการณ์ ย่อมนำมาซึ่งการสถาปนาอำนาจนำอันเป็นฐานแห่งความชอบธรรมและการันตีต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างมิต้องสงสัย 

สังคมไทยซึ่งเป็นสังคมหนึ่งที่เคยมีวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรม การเคารพบูชาผีท้องถิ่นผ่านกิจกรรมทางสังคมต่างๆถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่นำไปสู่การเชื่อมโยงกิจกรรมทางสังคมเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ในรูปทางพิธีกรรม การกราบไหว้สิ่งที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งจึงเป็นเรื่องปกติ ถึงกระนั้นความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นของมันเอง หากแต่มนุษย์ได้สถาปนาความศักดิ์สิทธินั้นผ่านเรื่องเล่าหรือวีรกรรมต่างๆ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกเรียกในนามของแม่นาค เจ้าพ่อไทรทอง จวบจนกระทั่ง “พ่อปรีดี” หรือ “เสด็จเตี่ย”ก็ตาม

ความทรงจำจึงเป็นตัวขับเคลื่อนให้วัตถุยังคงไว้ซึ่งอำนาจบางอย่าง แม้กระทั่งตัวตนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นที่เคยมีอยู่จริงได้หายไปแล้ว หรือปัจจุบันเองยังมีคนที่เห็นด้วยหรือขัดแย้งกับตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลผู้สถิตย์อยู่ในฐานะอนุสรณ์ทางความทรงจำนั้น แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งอำนาจที่เคลื่อนไหวด้วยตัวของมันเองผ่านความทรงจำ การดำรงอยู่ของหลักฐานทางความทรงจำนั้นๆจึงมักส่งผลต่อผู้ที่พบเห็น ไม่ว่าผู้ที่พบเห็นนั้นจะอยู่ในฐานะของผู้ที่ชื่นชมหรือรังเกียจตัวหลักฐานนั้นก็ตาม หากเป็นผู้ที่ไม่มีความรู้สึกร่วมกับหลักฐานทางความทรงจำนั้นมาก่อน อย่างน้อยหลักฐานนั้นก็เปรียบดังเครื่องหมายคำถามที่คอยให้ค้นหา ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์ใดที่ทำให้ต้องค้นหาก็ตาม 

                ในความเป็นองควัตถุที่หยุดนิ่งแต่บรรจุไว้ซึ่งความทรงจำบางอย่าง ซึ่งตัวความทรงจำเองก็เป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง เพียงแต่พันธะที่ถูกเชื่อมโยงเข้าการเคลื่อนไหวที่ปรากฎในปัจจุบันต่างหากที่ยังคงให้ความทรงจำนั้น คอยโลดแล่นอยู่ในปัจจุบัน โดยมีองควัตถุผู้ยืนยันตัวตนทางความทรงจำนั้น อย่างไรก็ดี ในหน้าประวัติศาสตร์เองนั้น ไม่เป็นที่แปลกใจว่าเหตุใด เมื่อฝ่ายใดมีชัยชนะเหนือฝ่ายหนึ่งจึงถึงขั้นต้องเผาบ้านบ้านเผาเมือง หรือทุบเครื่องหมายสำคัญบางอย่างของคู่ตรงข้ามทิ้งไป แม้กระทั่งการเผาธงของชาติบางชาติโดยคนบางกลุ่ม ก็ย่อมแสดงถึงนัยยะที่เชื่อมโยงถึงความทรงจำบางชุด อันเป็นสิ่งที่บรรจุไว้กับเครื่องหมายนั้น การทำลายหรือบิดเบือนในหลักฐานทางความทรงจำเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ทางประวัติศาสตร์(Damanatio Memoriea) จึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีปมหรืออคติใดๆต่อชุดประวัติศาสตร์หรือความทรงจำนั้นๆเสมอ


เมื่อเกิดความขัดแย้งใดๆ ก็ย่อมนำมาซึ่งการต่อสู้กันทางความทรงจำ การอ้างหลักฐานเพื่อเอาผิด การแก้ต่างเพื่อให้เกิดความกระจ่าง จึงเป็นปฏิสัมพันธ์ทางการโต้ตอบกันด้วยชุดข้อมูลรูปแบบหนึ่ง แต่สำหรับพื้นที่ทางอำนาจ ยิ่งไปกว่าชุดข้อมูล คืออุดมการณ์หรือความเชื่อที่คอยต่อกรกันไปมาบนพื้นที่ทางความทรงจำ จึงไม่แปลกที่ใครสักคนจะออกมาเพื่อทุบอนุสาวรีย์บางแห่งเพื่ออ้างความชอบธรรมต่อความเชื่อของตนเอง ซึ่งสิ่งที่เชื่อบางทีก็แค่เชื่อแต่อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง จะเรียกว่างมงายก็ไม่ผิดเสียทีเดียว ซึ่งมันน่ากลัวมาก หากใครคนหนึ่งจะออกมาทำลายข้าวของเพียงเพราะความบ้าคลั่ง แต่ในความรู้สึกก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าความรู้สึกที่ติดแน่นจนอาจกลายเป็นปม เช่นเดียวกับคู่รักคู่หนึ่งที่เลิกรากันไป รูปถ่าย ตั๋วหนัง ของขวัญที่เคยซื้อให้กัน มันคงไม่มีความหมายอะไรไปมากกว่าที่ต้องเก็บทิ้งหรือเผาทำลายเพียงเพราะรักจางหายไป ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราพยายามลืม ก็มักจะผุดขึ้นให้เราได้จำถึงมันเสมอ .  

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

Contact

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *