บายเฟรชชี่ในถุงยางกับการครอบงมปัญหาเรื่องเพศ


การแจกถุงยาง ถือเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพื้นที่ที่ศาสนากับผู้คนมีความสัมพันธ์กัน กิจกรรมทางเพศที่นำไปสู่ความเสียหายเช่นการผิดประเวณีจึงเป็นการกระทำบาปอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน การแจกถุงยางเป็นกลไกสำคัญในการนำเสนอการสนับสนุนให้มี “เพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง” ซึ่งการมีเพสศสัมพันธ์ที่ถูกต้องนี้เอง ถือเป็นชุดคำในทางวาทกรรมที่ถูกใช้และนำเสนอด้วยกับอีกชุดคำอธิบาย ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายเป็นลำดับไป

          ก่อนอื่นผู้เขียนจะขออธิบายถึงกิจกรรมหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นสำคัญโดยเริ่มต้นจากสิ่งที่เป็นกระแสโซเชี่ยลมีเดียในกลุ่มสังคมนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี เมื่อไม่นานมานี้ คือ กิจกรรม Bye Freshy ซึ่งผู้เขียนเองก็เคยเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมในฐานะผู้จัดกิจกรรมนี้มาก่อน เนื้อหาหลักของกิจกรรมคือเป็นกิจกรรมที่มีการรณรงค์ให้แต่งกายด้วยชุดนักศึกษา อันว่าเป็นชุดพระราชทาน อีกทั้งมีการจัดงานรื่นเริง เชิงเลี้ยงส่ง ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการ “สลัดความเป็นน้องใหม่”

          โดยส่วนตัวแล้วขออกความเห็นเลยว่า กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ “ฟุ่มเฟือย” โดยใช่เหตุ แม้จะมีคนพูดถึงเรื่องประสบการณ์จากการทำกิจกรรม มิตรภาพ ความภาคภูมิใจ การได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ ถึงกระนั้นเหตุผลเหล่านี้ก็เป็นเหตุผลที่มีอยู่ในธรรมชาติของการทำกิจกรรมในทุกๆกิจกรรม ซึ่งไม่ใช่แค่กิจกรรมบายเฟรชชี่ที่ผูกขาดเหตุผลเหล่านี้ และส่วนตัวผู้เขียนก็ยอมที่จะให้คนอื่นวิจารณ์ในตัวผู้เขียนเองถึงการมีส่วนร่วมที่ได้กระทำไปแล้วอย่างไม่มีข้อกังขา ว่าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการของความฟุ่มเฟือยดังกล่าว และผู้เขียนเองก็มองว่ากิจกรรมบายเฟรชชี่ เป็นดั่งพิธีกรรมอะไรสักอย่างที่จะต้องให้รุนพี่มาปลดแอกชีวิตออกจากช่วงเวลาหนึ่ง และทุกอย่างก็จบลงด้วยกับการที่เอาเรื่อง “ชุดนักศึกษา” มาเป็นข้ออ้าง เพราะรุ่นพี่มีอภิสิทธิ์ที่จะทำลายมันลงได้ ด้วยกับการเอาเข็มขัด กระดุม เสื้อ หรืออะไรก็ตามที่เป็นของน้องไป ซึ่งจะด้วยกับการที่น้องสมยอมอะไรก็ตามแต่ แต่มันก็บ่งบอกให้เห็นว่า ตกลงพี่มีสิทธิเหนือชุดพระราชทานในการกำหนดความหมายของสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ต้นกระนั้นหรือ ?

          มาในส่วนของเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นหลังเสร็จกิจกรรมในทุกปี คือจะมีการแจกถุงยางแก่น้องๆเป็นของให้บายเฟรชน้องๆ ซึ่งอันที่จริงก็ใช่ว่าจะได้กันโดยส่วนใหญ่หรือทุกคน แต่ก็กลับกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ได้เข้ามาครอบงำในอีกหลายๆประเด็นเกี่ยวกับงานบายเฟรชชี่ ซึ่งผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงประเด็นอื่นใด นอกเหนือไปจากการวิเคราะห์การกระทำทางวาทกรรมเกี่ยวกับการแจกถุงยางที่ได้เกิดขึ้นเป็นประเด็นสำคัญ
          อย่างที่มีการกล่าวไปแล้วในส่วนที่มีการจุดประเด็นว่า “มุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ใน ม.อ.ปัตตานี” ซึ่งจากเหตุผลนี้ได้ให้น้ำหนักไปในทางที่ว่า มุสลิมก็คงจะไม่เห็นด้วยกับการแจกถุงยางอยู่แล้ว และไม่ควรแก่การกระทำเช่นนี้ โดยมีการอ้างถึงความสำคัญของงานบายเฟรชชี่ด้วย ซึ่งความสำคัญที่ว่าส่วนตัวมองว่ามันเป็นความชอบธรรมตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์อยู่แล้วที่มันจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะมันเกิดทุกปี แค่ไม่มีใครมาดราม่าก็เท่านั้นเอง คนบางกลุ่มก็มองเป็นเรื่องสนุกสนานกันไป ด้วยบริบทของงาน เค้าให้เพราะอยากให้ ไม่ได้แคร์ว่าใครจะเอาไปใช้จริงตาม function ของมัน ง่ายๆคือมันเป็นงานรื่นเริงที่อยู่ในพื้นที่ของการรื่นเริง ไม่ใช่งานศาสนา และมันเป็นทุกปี ก็ไม่ได้มีใครคิดว่าจะเป็นปัญหาทางวัฒนธรรม และศาสนา

          และในส่วนของการเป็นคนจำนวนมากของมุสลิมที่ว่าจะไม่เห็นด้วย ผมมองว่าประเด็นนี้ยังคงมีความย้อนแย้งอยู่พอสมควร หากมองในภาพรวมปัญหาเรื่องเพศในพื้นที่ เพราะนอกเหนือจากประเด็นนี้ เช่น การนัดคู่ในที่ลับตาคน หรือการนั่งลานอิฐในช่วงโพล้เพล้ หากมองจากส่วนที่ว่าเป็นศาสนิกส่วนใหญ่ซึ่งไม่เห็นด้วย แต่กลับมีการกระทำเช่นนี้อยู่จริงในสังคมนั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่าการปลุกกระแสประเด็นนี้ก็ยังเป็นการสรุปจากทั้งหมดบนฐานของความเป็นส่วนใหญ่ด้วยสถานการณ์เดียวจากความคิดเห็นส่วนตัว ในขณะที่ประเด็นอื่นทางสังคมในลักษณะที่เชื่อมโยงกันยังถูกละเลย แต่ในทางกลับกันก็ผู้เขียนก็เข้าใจได้ว่า กลุ่มคนที่กระทำการควรเคารพวัฒนธรรมทางความเชื่อของคนส่วนใหญ่ด้วย แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่ที่ว่ามีความคิดเช่นไรนั้น ข้อเขียนนี้ก็ไม่สามารถพอที่จะตัดสินตีความได้เพียงการมองจากวิธีคิดจากส่วนตัวเพราะมันเป็นเรื่องของคนหลายคนที่ว่าจะคำตอบกับประเด็นดังกล่าวอย่างไร ส่วนที่ว่าผู้จุดประเด็นได้กระทำการห้ามในเหตุการณ์นั้นหรือไม่ เป็นเรื่องส่วนตัวที่ผู้เขียนจะไม่ก้าวก่ายใดๆ เพราะผู้เขียนก็ไม่ได้อยู่ร่วมในสถานการณ์นั้นตั้งแต่แรก และตั้งแต่เคยเข้าร่วม ก็ไม่เคยเห็นต่อหน้าจังๆ เว้นแต่จะพบเห็นถุงยางที่ทิ้งกลาดเลื่อน (ซึ่งยังส่วนใหญ่ยังไม่แกะใช้งานและมีบางส่วนที่แกะออกมาเพื่อเล่นสนุก) เป็นขยะที่ต้องปล่อยให้เป็นภาระของผู้อื่นในการเก็บกวาด

          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้จุดประเด็นก็ปรากฏคำว่า “อิสลาม” ในข้อความสำคัญ ก็ทำให้เห็นถึงวิธีคิดที่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นถุงยาง ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยที่จะบอกว่าการแจกถุงยางคือการสนับสนุนให้ร่วมเพศกัน เพราะโดย function ถุงยางไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อใส่ขยะเช่นถุงดำอย่างแน่นอน การร่วมเพศนอกการสมรสถือเป็นการทำซีนาหรือผิดประเวณี อิสลามสอนให้ออกห่างจากสิ่งเหล่านี้ เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นบาปใหญ่ มุสลิมจักต้องช่วยกันตักเตือนหากพบเห็น หากปล่อยวางก็แสดงให้เห็นถึงศรัทธาที่อ่อนแอของมุสลิมเอง จึงเป็นเหตุผลที่อิสลามไม่สนับสนุนให้ใครไปมีความสัมพันธ์ที่ผิดหลักการตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะใส่ถุงยางแล้วปลอดภัยจากการติดเชื้อหรือการตั้งครรภ์ก็ตาม

          การอ้างถึงเหตุผลหน้าที่ในการป้องกันจากการติดเชื้อและตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของถุงยางเอง ก็เป็นประเด็นสำคัญในข้อถกเถียง ซึ่งมันก็เป็นเหตุผลสำหรับผู้คนในอีกชุดวิธีคิดหนึ่ง และอาจหมายรวมถึงการคุมกำเนิด(แม้จะเป็นกรณีของความสัมพันธ์ที่มีการแต่งงานแล้วก็ตาม) นอกจากความสนุก คนแจกเขาอาจคิดถึงประเด็นนี้ (ซึ่งไม่ใช่แค่คนที่แจกในกรณีนี้แต่ยังรวมถึงในหลายกรณี) ถ้าหากมุสลิมส่วนใหญ่เองคิดหรือตระหนักได้ตั้งแต่ต้นที่จะไม่รับเพราะสาเหตุทางความเชื่อ ก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ เช่นว่าร้านขายข้าวขาหมูในลานอิฐ (ชื่อโรงอาหารใน ม.อ.ปัตตานี) เอง ที่มุสลิมเลือกที่จะไม่เข้าไปกิน ด้วยกับเหตุผลที่เข้าใจกันได้ การไม่เข้าไปกิน ก็ไม่ได้หมายความว่ายอมรับว่าข้าวขาหมูว่ามุสลิมกินได้ และผู้เขียนเองก็มองว่าในสังคมหรือชุมชนศาสนิกนั้น การแจกถุงยาง ถือเป็นการแก้ปัญหาความกำหนัดทางเพศที่ปลายเหตุ ในขณะที่วัฒนธรรมการแต่งงานในสังคมยังถูกทำให้เป็นเรื่องยาก ถึงกระนั้น ถุงยางไม่ใช่สาเหตุของความกำหนัดทางเพศ มันเป็นเรื่องของการควบคุมหรือยับยั้งชั่งใจตั้งแต่แรก

          ไม่ว่าถุงยางจะมีอยู่หรือไม่ก็ตามแต่ โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่าปัญหาเรื่องเพศในสังคมมุสลิมไม่ได้ถูกเริ่มที่เรื่องแจกถุงยาง ใครจะแจกไม่แจกก็อีกเรื่อง ถุงยางไม่ได้ผูกขาดอารมณ์ทางเพศเสียทีเดียว อีกทั้ง ความเป็นส่วนใหญ่ของคนมุสลิมมันถูกใช้เป็นประเด็นในทางวาทกรรมตั้งแต่แรกว่าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ซึ่งจริงเท็จประการใดในเชิงบริบทนั้นยังต้องการพิสูจน์ ไม่ว่าจะด้วยผลสำรวจหรืองานวิจัยในการทำความเข้าใจต่อประเด็นทางเพศในสังคมมุสลิมเอง ซึ่งปัญญาชนมุสลิมทั้งหลายก็ยังคงต้องทำงานหนักนี้ต่อไป ไม่ใช่แค่ในแง่ของการป้องกัน แต่การจัดการภายหลังจากปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วก็เป็นสิ่งสำคัญ เราเองยังขาดการจัดการอย่างเป็นระบบจากปัญหาที่เกิดขึ้น นอกเหนือจากการก่นด่า ตราหน้าแค่ว่าเป็นคนบาป แต่เรื่องอื่นเรากลับไม่สามารถแก้ไขอะไรให้ได้ ปล่อยลอยแพให้เป็นไปตามยะถากรรม อีกทั้งการสนทนาระหว่างความเชื่อก็ยังมีทีท่าของความหยาบโลน ซึ่งเข้าใจได้ว่าอิสลามคือสัจธรรมสูงสุด แต่ในฐานะที่ใครหลายคนต่างเป็นผู้ทรงภูมิทางปัญญา เราเชื่อว่าเราสามารถสื่อสารกันได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ เราก็ต่างเชื่อว่าคำพูดที่ดีก็เป็นกุศลทานอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องปฏิเสธจากตัวบทในความเป็นจริงในประเด็นทางความเชื่อ เพราะเราควรตรงไปตรงมาในประเด็นนี้อยู่แล้ว

          ผู้เขียนเข้าใจว่าใครหลายคนคงมองว่ามันเป็นเรื่องสนุก หรือเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลในอีกชุดความคิดความเชื่อ แต่ในเมื่อมีการจุดประเด็นเรื่องเพศขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ควรที่จะปิดบังเพื่อให้รับทราบและรับรู้กันทุกฝ่าย สังคมมุสลิมเองเดิมทีก็มีการเปิดเผยประเด็นเช่นนี้อยู่แล้ว เช่นท่านนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) เมื่อครั้งมีผู้ติดตาม (ซอฮาบะฮ) มาถามท่านเกี่ยวกับกรณีเรื่องเพศ ท่านก็ตอบอย่างตรงไปตรงมาอย่างไม่ปิดบัง ทั้งสิ่งที่อนุญาตให้กระทำหรือไม่กระทำในการร่วมเพศ แต่ในระดับสถาบันครอบครัว เรากลับปล่อยให้เป็นเรื่องลี้ลับให้เยาวชนไปลองผิดลองถูกกันเอาเอง สิ่งที่เห็นจึงมีแต่การกระทำที่ปล่อยให้ครอบงมกันไป ทั้งในฝั่งของคนที่ไม่ได้มองถึงวิธีคิดแบบอิสลาม กับมุสลิมที่มองปัญหาเรื่องเพศอย่างน้อยมิติ ซึ่งอาจไม่ได้เริ่มที่ปัญหาเรื่องเพศ หากแต่เป็นประเด็นศรัทธาและจริยธรรมที่สังคมศาสนาเองยังมีการถกเถียงกันอยู่ และความอ่อนแอทางสังคมในเรื่องเหล่านี้ อันเห็นได้จากกรณี “น้ำดัมดัม” ที่อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส หรือประเด็นเรื่อง “การแอบมีอะไรกัน” ของหนุ่มทหารพราน กับสาวชาวบ้านในพื้นที่ ที่สุดท้ายกลายเป็นเรื่องความไม่รู้รับผิดชอบของรัฐในการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ทั้งที่ ความรัก ความใคร่ เป็นนามธรรมในทางความรู้สึกที่ผู้เขียนเองคิดว่ายับยั้งยาก และมันก็พร้อมที่จะละเมิดกฏทั้งหลายอยู่เสมอ

และถ้าจะไม่พูดถึงเลยว่าถุงยางมันคืออะไร มันเหมือนกับถุงดำหรือไม่ ก็กระไรอยู่ รู้จักถุงยางไว้ก็ใช้ว่าจะไปกระตุ้นกำหนัดใครเสมอไป เดี๋ยวพอเยาวชนไปครอบงมกันเอาเองแล้วเกิดปัญหาก็ชี้หน้าด่ากันอีก ... โถถัง


ส่วนใครจะบายเฟรชชี่กันด้วยถุงยางอันนี้ก็ตอบให้ไม่ได้ เพราะประเด็นกิจกรรมก็คงต้องถกเถียงกันในถึงเรื่องรากฐานและความสมเหตุสมผลของตัวกิจกรรมเองในอีกประเด็น ถ้าเป็นมุสลิมก็อย่าทำเลย เพราะโดยวิธีคิดแบบอิสลามตามที่เสนอมาในข้างต้นก็แสดงถึงความหมิ่นเหม่ในการกระทำดังกล่าว แม้ในความเป็นจริงจะมีใครละเมิดหลักอิสลามไปมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานอะไรก็ตามแต่ ก็ควรจะห้ามปรามผ่านการรณรงค์ให้ความรู้ถึงพิษภัยจากการผิดประเวณี และให้รู้จักไว้บ้างว่าถุงยางมันคืออะไร ไม่ใช่ไปแจก แต่ให้เขารู้จักไปพร้อมกับพิษภัยของการกระทำดังกล่าวในฐานะที่เป็นบาปใหญ่ ส่วนใครจะทำในที่ลับตาอะไรอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละคน เป็นเรื่องของบาปบุคคล อิสลามไม่มีวิธีคิดเรื่องสอดแนมชีวิตใครอยู่แล้ว ปกปิดความผิดของพี่น้องได้ก็เป็นเรื่องดีสำหรับตัวเองในโลกหน้า ส่วนความเชื่ออื่นๆอันนี้ผมก็ไปหักห้ามไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองอย่างไร โดยส่วนตัวผู้เขียนก็ไม่เคยเอาถุงยางไปให้ใคร หรือรับถุงยางจากใคร (เพราะเห็นด้วยกับกรอบคิดความเชื่อมโยงกับหลักการอิสลามอยู่แล้ว) มีแต่จะเก็บแล้วเอาไปทิ้ง

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

Contact

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *