บังคับทำ แล้วมหาลัยจะพัฒนา (?)

นับตั้งแต่ที่ผู้เขียนได้เข้าเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งย่านรูสะมิแล ซึ่งปีนี้ได้ย่างเขาสู่ปีที่สี่แล้วนั้น ข้อสังเกตสำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันต่อมหาวิทยาลัย คือความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไขมหาวิทยาลัย ให้แลดูพัฒนามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพยายามขององค์การนักศึกษาในการปรับรูปแบบกิจกรรมรับน้องประชุมเชียร์ การเปลี่ยนจากใส่เสื้อกิจกรรมขาว-ดำของนักศึกษาเข้าใหม่เป็นสีสันที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการให้ความร่วมมือหรือสนับสนุนจากบุคลากรและผู้บริหารของมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ดี การแสดงออกถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ต่างๆให้ดูใหม่หรือทันสมัยมากขึ้นนั้นก็ยังคงเป็นแค่การแก้ไขปัญหาที่อยู่บน “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ใช่ว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดประโยชน์ หากแต่ว่าแต่ละสิ่งแต่ละอย่างที่ทำการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้ครอบคลุมรายละเอียดของปัญหา ตลอดจนสาเหตุของปัญหาจากตัวแสดงต่างๆ ที่ชั้นปี คณะ ตลอดจนมหาลัยยังคงละเลยที่จะเด็ดขาดหรือเปิดให้มีการถกเถียงทางวิสัยทัศน์ระหว่างกลุ่มที่มีจุดยืนและทัศนะเกี่ยวกับปัญหาที่เห็นต่างร่วมกัน


จะให้ใส่เสื้อสีไหน ปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมอย่างไร ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะการล่อลวงทางวาทกรรมของผู้จัดกิจกรรม และสถาบันอันว่าด้วยชั้นปี รุ่น สาขาวิชา ยังคงกระทำ ด้วยการยอมรับว่าถึงที่สุดแล้ว การทำให้คนเชื่อฟังเป็นสิ่งจำเป็น มากกว่าการให้คนใช้เจตจำนงค์เสรี ในการเลือกกระทำ เพื่อให้สอดคล้องกับคติ ความเชื่อ อุดมการณ์ ตลอดจนรากเหง้าทางวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล จนกระทั่งนำคนเข้ามารวมกลุ่มและยัดเยียดความคิดให้เชื่อและกระทำตามกัน

วัฒนธรรมขององคาพยพในมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การผลิตซ้ำทางอำนาจด้วยกับความสัมพันธ์เชิงกลุ่มนี้เอง ได้ทำลายกระบวนการคิดอย่างสร้างสรรค์ต่อประเด็นทางสังคมต่างๆ เราสามารถสังเกตได้ผ่านการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายต่างในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่สิ่งที่ถูกประกาศหรือบังคับใช้ออกมา จะเป็นนโยบาย/ข้อบังคับในลักษณะของการบังคับ เช่นว่า มหาลัยต้องการกระตุ้นให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นทั้งในการเป็นผู้จัด และผู้เข้าร่วมกิจกรรม มหาลัยก็จะสร้างแบบแผนเกณฑ์มาตารฐานบางอย่างขึ้นมาเพื่อบังคับนักศึกษาว่า ต้องเข้าร่วมกิจกรรม ทำกิจกรรมให้ครบตามอัตราส่วนตามเกณฑ์มาตรฐานที่ถูกกำหนด ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถจบการศึกษาได้ เป็นต้น

เราจะเห็นการบังคับเช่นนี้มากมายในกฏระเบียบข้อบังคับต่างๆของมหาวิทยาลัย ทั้งที่วัยวุฒิของนักศึกษานั้น ต่างเป็นผู้ที่สามารถมีสิทธิใช้เสียงตามหลักกฏหมาย ในการเลือกผู้แทนเองได้แล้วทั้งนั้น

หากจะเทียบกันว่า ระเบียบข้อบังคับก็เปรียบได้ดั่งกฏหมายบ้านเมืองที่ถูกกล่าวถึง เช่นนั้นแล้ว กฏระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย ก็ย่อมเป็นสิ่งที่นักศึกษาทั่วไป สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านการทำประชาพิจาร และลงประชามติเพื่อการออกบังคับใช้กฏระเบียบนั้นได้ เช่นเดียวกับกฏหมายบ้านเมืองในประเทศที่มีอารยะและเห็นแก่ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ อันเห็นแก่เสียงสะท้อนของเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมแล้วทั้งหลาย

การแสดงตนว่าเป็นสังคมที่เจริญส่วนหนึ่งก็มาจากการฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนก่อนกระทำการใดนั่นแล หาใช่การเริ่มจากการสรรค์สร้างวัตถุ อันเป็นจิตปรุงแต่งใดทั้งหลายก่อนหรอก

ความเจริญภายในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน อันจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยเองนั้น ก็มีความพยายามในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่ว่าจะด้วยการสร้างหรือปรับปรุงอาคารเพิ่มเติม ที่สำคัญคือการประกาศใช้นโยบายเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยแก่นักศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยแลดูทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง ไม่ว่าจะด้วยกับการศึกษาดูงานจากที่อื่นมาก่อนก็ดี

เห็นว่าเขาทำ ก็อยากทำตาม แต่ยังขาดความสร้างสรรค์ในกรบวนวิธีการปรับใช้เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อมหาวิทยาลัย เห็นได้ด้วยกับการเริ่มต้นของนโยบาย จากการ “ห้าม” อย่างนั้น “ห้าม” อย่างนี้ แต่ยังไม่มีรูปแบบหรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพพอในการเข้ามาทดแทนตามความเหมาะสมของสภาพมหาวิทยาลัย ทั้งในแง่บริบทพื้นที่และตัวนักศึกษาเอง ดังเช่นกรณี การ “ห้าม” นักศึกษาหอพักใน “ทุกชั้นปี” ใช้รถจักรยานยนต์ แล้วใช้จักรยานแทน

อันที่จริงแล้วนั้นมหาลัยไม่ควรรเริ่มจากการห้าม แต่ควรเริ่มจากการส่งเสริมสวัสดิการเพื่อรองรับก่อน แล้วค่อยปรับลดการใช้ลง ระหว่างนั้นก็ควรปรับปรุงระบบการใช้จักรยานสำหรับบริการของมหาวิทยาลัย ตลอดจนการจัดเวทีสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยน หาข้อดี ข้อเสีย และความจำเป็นในการใช้จักรยานยนต์ของนักศึกษาในแต่ละชั้นปี โดยเฉพาะชั้นปีที่สาม-สี่ ที่อาจมีความจำเป็น เนื่องด้วยกับการลงพื้นที่ทำวิจัยสาขา หรือการสังเกตการสอนของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์เอง แต่เขามีความประสงค์พักอาศัยหอพักในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ความค่อยเป็นค่อยไปของการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการพัฒนานั้นมีความสำคัญ ทั้งยังมีความยั่งยืนและเห็นผลระยะยาวมากกว่า สังคมทุกสังคมต่างต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องค่อยๆขับเคลื่อนไป และจะขับเคลื่อนไปให้มีประสิทธิภาพ ก็ต้องถามไถ่กันหลากหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาอันเป็นทรัพยากรสำคัญในการทำให้มหาวิทยาลัยนั้นคงอยู่ทำประโยน์ต่อสังคม และการสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมให้แก่นักศึกษาเองก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่ดี จบการศึกษาไปก็จะไม่ตัดสินปัญหาแทนสังคม และอาศัยการบังคับในการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งขาดความเป็นระบบ จนกระทั่งไม่มีความต่อเนื่องในการแก้ปัญหา อันเนื่องจากไร้ระบบที่ถูกออกแบบเพื่อรักษาตัวนโยบายในการแก้ปัญหาระยะยาว

จากทั้งหมดที่กล่าวมาตั้งแต่การบังคับกระทำต่างๆ ตั้งแต่การเข้ากิจกรรม กระทั่งการบังคับใช้ในทางที่ดีก็ตามที เราก็เห็นเพียงแต่การบังคับกระทำ แต่ไม่เห็นซึ่งความร่วมมือในการแก้ปัญหาผ่านความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างผู้บริหาร-บุคลากร กับนักศึกษา ที่จะมีความจริงจังในการหารือ แม้องค์กรกิจกรรมต่างๆจะดูเหมือนว่าเป็นตัวแทนของนักศึกษาที่ทำให้รู้สึกว่า ผู้บริหาร-บุคลากร ในมหาวิทยาลัยไม่ต่างกันมาก แต่หลายครั้งนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ไร้ซึ่งบทบาทนำ พวกเขาก็มักถูกทำให้หายไป กลายเป็นเพียงชายขอบทางความคิด สิทธิในการพัฒนาความเป็นผู้นำในหมู่นักศึกษาเอง จึงจำกัดวงแค่นักศึกษาที่ถูกให้ความหมายว่าเป็นผู้นำด้วยกับเงื่อนไขบางอย่าง ทั้งนี้ ใช่ต้องการจะให้มองว่าผู้นำนั้นไม่มีความหมาย หากแต่ต้องการให้เกิดความสำคัญแก่ทุกคนในลักษณะที่เท่ากันในฐานะนักศึกษา เพียงแต่ต่างกันด้วยภาระองค์กร และให้เขาได้สำนึกในความเป็นผู้นำและผู้ตามในขณะเดียวกัน จะทำให้เขามีความรู้สึกต่อเพื่อนนักศึกษาในแนวราบ มากกว่าแนวดิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่ รุ่นน้อง ก็เช่นเดียวกัน มันควรเป็นเช่นนั้นมากกว่า


การเข้าใจในความเป็นเพื่อนมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่ต้องกระทำโดยแนวราบ แล้วผู้คนจะเคารพกัน ปฏิบัติต่อสิ่งที่เห็นว่าดีร่วมกัน เมื่อพวกเขาตระหนักได้ว่า การบังคับนั้น ไม่ได้มีความหมายอันใดเลย นอกจากจิตสำนึกที่ดีจากตัวตนของพวกเขาเอง


ที่มาภาพจาก spring.org.uk

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

Contact

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *