Benefit of mankind Or Loving to People



ผลประโยชน์กับความรักเป็นสิ่งที่ดำรงคู่กันมาตลอด ในอดีตเองความรักระหว่างหญิงชายต่างถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและฐานะทางสังคม ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็มีความเป็นไปในหมู่ชนชั้นสูงเช่นการคลุมถุงชน อำนาจและเงินทองในการรักษาสถานะและความสัมพันธ์บนการดำรงเผ่าพันธุ์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ความรักจึงเป็นมากกว่าเรื่องส่วนตัว อย่างน้อยการที่จะรักใครสักคนหนึ่งก็ย่อมไม่พ้นจากความคิดที่ว่า “Love me love my dog” หรือว่า หากรักฉัน ก็ต้องรักครอบครัวฉันด้วย” เป็นต้น ฉะนั้นแล้ว การร่วมเพศระหว่างชายหญิงในสถาบันครอบครัวจึงไม่ใช่แค่การร่วมเพศของคนสองคน แต่มันคือการร่วมเพศของคนสองครัว และไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม่ผัวกับลูกสะใภ้จะกลายเป็นปัญหาระหว่างกัน เพราะต่างคนต่างมีพันธะทางสังคมที่ยังคงแสดงความสำคัญระหว่างกันในสถาบันทางครอบครัว


ในแง่ผลประโยชน์แห่งรัฐประชาชาตินั้น การทำให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ในพื้นที่อนาธิปไตยระหว่างรัฐประชาชาติเองนั้นก็เป็นเรื่องที่จำเป็น การเลือกที่จะผูกมิตรหรือดำรงไว้ซึ่งศัตรูจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ถึงกระนั้นการดำรงความสัมพันธ์ไว้ในพื้นที่อนาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ความสัมพันธ์เชิงมิตรและศัตรูจึงเป็นเรื่องที่กลับไปมา ทั้งในรูปของการดำรงตัวตนและการสูญเสียตัวตนหรือส่วนของเขตแดนเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยแห่งดินแดน ในขณะเดียวกันผู้ที่มีอำนาจก็ยังที่จะขว้างจักรของตนเองออกไปเท่าที่อำนาจจะส่งถึง ไม่ว่าจะด้วย “กงจักร” หรือ “ธรรมจักร” สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงตัดถางให้อาณาเขตขยายออกไป ก่อให้เกิดเป็นอาณาจักร หรือ Kingdom อาณาจักรจึงแสดงให้เห็นถึงขอบข่ายของ King ในฐานะ doom หรือผู้พิพากษาทั้งในแง่ที่เป็นรูปธรรมและการกำหนดชุดคุณค่าทางความคิด ตลอดจนรสนิยมในหมู่ผู้มี Class ไล่ลงมาถึงประชาชนในสังคม

การกระทำทางสังคมในผลประโยชน์จึงมักมีผู้มีส่วนที่ได้และเสีย ขณะเดียวกันการดำรงอยู่ของผลระโยชน์ก็ย่อมมีความเชื่อมโยงไปยังเจ้าของผลประโยชน์หรือผู้ได้รับผลประโยชน์นั้นอยู่ ผลประโยชน์ที่ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีระบบอยู่ในลักษณะโครงสร้างขนาดใหญ่ การมีส่วนร่วมจึงได้กลายเป็นส่วนสำคัญในความชอบธรรมตามแบบวิธีคิดทางการเมืองนับตั้งแต่ยุคภูมิธรรม(Enlightenment)ได้ปรากฏจนนำไปสู่การเรียกรองของบรรดาชนชั้นกระฎุมพีในอังกฤษโดยให้มีการต่อรองทางอำนาจกับกษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ที่ได้รับถูกกระจายออกไป ตลอดจนการปฏิวัติในฝรั่งเศสในราวคริสตศตวรรษที่ 18 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการกล่าวถึงวิธีคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชนกับการกำหนดอำนาจอธิปไตยทางการเมือง การเริ่มตัดความสัมพันธ์ระหว่างบรรดารัฐกับศาสนจักรออกจากกันรวมไปถึงการดำรงอยู่ของผลประโยชน์แห่งรัฐประชาชาติผ่านการกำหนดของสิทธิทางการเมืองแบบปัจเจกชนด้วยกับเจตจำนงทางการเมืองในรัฐประชาชาตินั้นๆ

บทบาทของวิธีคิดเรื่องปัจเจกชนจึงมีบทบาทสำคัญนับตั้งแต่ยุคภูมิธรรม(Enlightenment)ในการกำหนดผลประโยชน์ของรัฐประชาชาติทั้งการกำหนดอำนาจทางการเมืองรวมถึงการกำหนดภาคสาธารณะทั้งหลาย หน่วยทางสังคมอย่างประชาชนจึงเป็นที่ถูกกล่าวถึงมาตลอดในฐานะ “เสียง”ของการกำหนดชะตากรรมทางการเมือง ซึ่งมีมานับตั้งแต่การเมืองยุคนครรัฐ อย่างสภาสามร้อย เป็นต้น จะอย่างไรก็ตาม สภาสามร้อยไม่ได้ดำรงอยู่ในฐานะเสียงแห่งประชาชนร้อยเปอร์เซ็นต์ อำนาจทางการเมืองเรื่องชนชั้นเองได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ว่า กระฎุมพี หรือขุนนางก็ดี ต่างก็ดำรงอยู่ในฐานะผู้ที่ถูกเลือกแล้ว และกุ่มประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมเองก็ใช่ว่าจะดำรงในฐานะทั้งหมดจากประชาชน แต่ก็เป็นเพียงประชาชนจำนวนหนึ่งจากประชาชนอีกเผ่าหนึ่ง ซึ่งทำให้การกระทำโดยประชาชนเพื่อประชาชนเป็นไปได้ในระดับหนึ่ง ถึงกระนั้นประชาชนก็ยังมี Race หรือความเป็นกลุ่มแต่ละกลุ่ม Race ก็ไม่ใช่แค่กลุ่ม แต่ยังหมายรวมถึงการแข่งขันอีกด้วย

Benefit of Mankind” เองก็ไม่ใช่เรื่องของคนทั้งหมดเสมอไป Mankind มาจาการประกอบกันของคำสองคำคือ Man อันหมายถึงความเป็นมนุษย์ที่เป็นความหมายทั้งชายหรือหญิง(แต่ผู้หญิงก็ยังคงถูกจำแนกด้วยศัพท์เฉพาะอย่าง Woman) กับ Kind ซึ่งหมายถึง Class, Sort และ Variety ซึ่งในขอบเขตของคำว่า Kind นี้ แสดงให้เห็นถึงการจัดประเภทในความหลากหลาย ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงการมีชนชั้น ความหลากหลายทางชนชั้นใน Mankind จึงเป็นเรื่องทางสังคมที่ถูกจัดวางทั้งด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองเองก็ดี Mankind จึงไม่ได้ปฏิเสธความเป็นชนชั้น และแน่นอนว่าน้ำหนักของสิ่งที่ต่างระดับในสังคมก็ย่อมไม่ได้เท่ากันเสียทีเดียว Mankind ในกรอบความหมาย Human Race นอกจากจะดำรงในฐานะเผ่าพันธุ์แล้ว ก็ยังดำรงอยู่ในพื้นที่ของการต่อสู้ ช่วงชิง และแข่งขันอีกด้วย และผลประโยชน์ก็ย่อมตกสู่ผู้ที่ชนะหรือเหนือกว่าเสมอ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีคนอย่าง Karl Marx ไปบอกคนว่าสังคมมันทลายลงสู่ระนาบเดียวกัน แล้วบอกว่าเรามาแบ่งกันกินแบ่งกันใช้นะ หรือแม้กระทั่งการ “สอนให้รักประชาชน”เองก็ดี(ถึงแม้ในความเป็นจริงอาจยังไม่มีวินมอเตอร์ไซต์หรือขอทานหน้ามหาลัยคนไหนเคยได้ลงเอยรักที่ดีร่วมกับนักวิชาการหรือนักศึกษาท่านใดในสถาบัน) ในคำว่าประชาชนจึงแสดงให้เห็นถึงความสามัญธรรมดาในฐานะ Person in general หรือกรอบคิดประชาชนในวิธีคิดแบบรัฐประชาชาติในฐานะ Body of citizens มนุษย์แบบทั่วไปหรือสามัญชนธรรมดา จึงแสดงให้เห็นถึงความธรรมดามากกว่าที่จะมีอะไร นอกเหนือจากส่วนประกอบที่จะให้ได้มาซึ่งตัวชุมชน ถึงกระนั้นในความเป็นส่วนประกอบเอง ก็ย่อมมี “การกระทำความ Masses”อยู่ ความเป็นมวลชนเองจึงเป็นสิ่งที่ดำเนินเคียงคู่ไปกับการสร้างอารยธรรม ตลอดการปฏิวัติ และการสร้างปรากฏการณ์ทางสังคมในช่วงเวลาต่างๆ ความต้องการในมวลชนจึงเป็นสาเหตุสำคัญในการให้พลังอำนาจอันนำไปสู่แรงปรารถนาหนึ่งดำรงอยู่ การตัดสินใจของประชาชนในฐานะปัจเจกชนจึงเป็นการกำหนดการกระทำทางการเมืองในฐานะ Body of citizens ได้อย่างดี

ความรักจึงเป็นเรื่องสำคัญในการกำกับผลในทางประโยชน์ให้ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นแค่ในฐานะประชาชนธรรมดาหรือชนชั้นผู้มั่งคั่งก็ตาม ถึงกระนั้น ความรักแบบโรแมนติกก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้หลุดพ้นจากเงื่อนไขทางผลประโยชน์ของชนชั้น อันเนื่องด้วยความรักแบบโรแมนติกนั้นมักไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ความรักแบบโรแมนติกไม่ต้องการการแต่งงาน ความรักความสัมพันธ์แบบโรแมนติกจึงดำรงไปในห้วงอุดมคติ ความสัมพันธ์แห่งกามแบบโรแมนติกเองก็ต่างดำเนินไปด้วยกับความรู้สึกที่นำพาให้สัมผัสในรสแห่งรักที่เกินกว่าจะจับต้องได้ การรักกันแม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันจึงเป็นเสน่ห์ของความรักแบบโรแมนติก ทั้งในแง่ของเวลา การมองเห็น และขอบกั้นต่างๆที่ถูกทลายออกไป แม้กระทั่งความตาย เช่นเดียวกับเรื่องราวของขวัญกับเรียมในนวนิยายเรื่องแผลเก่า

เช่นเดียวกันกับประโยคที่ว่า ในความรัก ฉันค้นพบตัวตนของฉัน ในตัวตนของเธอ, เธอค้นพบตัวตนของเธอ ในตัวตนของฉัน (The self (the subject) finds itself in the other (the object) as the other finds itself in the self.) ในนวนิยายเรื่อง โรมีโอกับจูเลียต ขณะเดียวกันในประโยคนี้เอง Hegel ได้เคยอธิบายไว้ว่า (ความรัก)เป็นกระบวนการของการสูญเสียตนเองและค้นพบตนเองในเวลาเดียวกัน กล่าวคือคนรักต่างกระทำเปรียบเสมือนกระจก ในขณะเดียวกันระหว่างความสัมพันธ์นั้นก็ดำรงไปทั้งในสภาวะที่ยอมรับและปฏิเสธ ความย้อนแย้งนี้จึงดำเนินไปในระหว่างความรัก จึงม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรักเองก็ต่างพยายามจะทำให้อีกฝ่ายพอใจ ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งที่ไม่พอใจแก่ทั้งสองฝ่าย แม้ว่าสิ่งนั้นจะบ่งถึงความเป็นตัวตนแค่ไหน ตัวตนในความรักจึงดำเนินไปในสถานะที่ยอมรับในตัวตน และการยอมเปลี่ยนเพื่อใครสักคนแม้จะทำลายตัวตนของคนๆหนึ่งก็ตาม ในความรักจึงมีการสละที่น่ายินดีและพึงใจอยู่ และผลประโยชน์ทางความรักจึงเป็นมากกว่าการทำให้อยู่เหนือกว่าเพียงฝ่ายเดียว แต่มันเป็นการยอมเพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลดำเนินไปในความเป็นกันและกัน มากกว่าที่จะดำเนินไปแบบของใครของมัน ชนิดที่ว่าเลิกกันยังต้องพึ่งกฏหมายแห่งรัฐประชาชาติมาแบ่งทรัพย์สินว่าอันไหนเป็นของใคร แม้จะสร้างสมร่วมกันมาก็ตาม

มันจึงไม่สำคัญว่า Benefit จะตกเป็นของใคร แต่เราพร้อมที่จะรักหรือไม่
และในความรักก็ย่อมสละซึ่งตัวตน เพื่อรับรู้อีกตัวตน รวมทั้งอีกหลายๆตัวตน
และยอมรับว่าแต่ละคน ก็ต่างรู้สึก เช่นนั้น


อ่านเพิ่มเติม - ความรัก ความรู้ ความตาย ของ ธเนศ วงยานนาวา / Hegel on Love: ในความรัก ฉันค้นพบตัวตนของฉัน ในตัวตนของเธอ, เธอค้นพบตัวตนของเธอ ในตัวตนของฉัน ของ สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล http://somsakjeam.blogspot.com/2010/01/hegel-on-love.html / http://www.etymonline.com



ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

Contact

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *