ครูหวังรวย: ว่าด้วยความเป็นครูไทยในโลกเสรีนิยมใหม่



ภายหลังจากความล้มเหลวของระบบรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ในรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคแรงงานในอังกฤษ บทบาทกลไกเสรีนิยมแบบ Keynesian ที่มุ่งหวังการพัฒนาสวัสดิการสังคมด้วยอัตราภาษีก้าวหน้า ถูกเขี่ยทิ้งด้วยด้วยกับนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่ของมากาเร็ต แทชเชอร์ ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสตรีเหล็ก และนำพาสังคมอังกฤษสู่ความเป็นเสรีนิยมใหม่ด้วยกับการเข้าวิพากษ์สังคมนิยมและรัฐสวัสดิการว่าเป็นการสอนวัฒนธรรมให้ประชาชนเอาแต่พึ่งพารัฐ ภายหลังกระแสนี้เองก็ได้ขยายตัวออกไปในระบบเศรษฐกิจโลกโดย IMF เองก็ได้รับไปในส่วนนี้ ซึ่งการแพร่ขยายเช่นนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปในนามของบริติชอินเดียหรือในนามของควีนแห่งอังกฤษอีกต่อไป เสรีนิยมใหม่ที่เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในภาคบริการสาธารณะ การแปรรูปกิจการของรัฐในหลายๆส่วนเข้าสู่ความเป็นเอกชนเองได้แปรรูปสังคมหลายๆสังคมให้เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ทวีความรุนแรงยิ่งกว่าหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความรุนแรงของอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้หมายแค่การขยายตัวของเครื่องจักรในลักษณะของวัตถุ แต่มันได้แทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของมนุษย์และแปรเปลี่ยนสังคมคนให้กลายเป็นปัจเจกชนในสายพานแห่งการผลิตสู่สถาบันต่างๆทั้งในนามของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน ข้อพิสูจน์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วในกรณีภายหลังจากที่หลายมหาวิทยาลัยของรัฐออกนอกระบบ การแปรรูปทางการศึกษานี้เองถือเป็นผลลัพธ์สำคัญที่จะทำให้ปัญญาชนเป็นแค่สินค้าที่ต้องผลิตออกเพื่อให้ตอบสนองแก่อุปสงค์อุปทานมากกว่าการเข้าไปตอบสนองเชิงคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าที่มหา’ลัยประกอบสร้างขึ้นเป็นวาทกรรมทำเพื่อเพื่อนมนุษย์หรือรักประชาชนแค่ไหน เป้าหมายที่ต้องรับใช้หรือชดใช้ก็ไม่พ้นหนี้ทางการศึกษา หรือการแสวงหาที่ทางให้กับใบปริญญาในพืนที่ของทุนนิยมเพื่อที่จะได้บอกกับป้าข้างบ้านว่ามีงานทำแล้ว

          อาชีพครูในสังคมไทยเองก็ถือว่าเป็นอาชีพที่ดำรงอยู่ด้วยกับชุดคุณค่าที่สังคมไทยเองยึดถือในฐานะ “พ่อพิมพ์”หรือ “แม่พิมพ์”ของชาติ ซึ่งต้องผลิตคนออกมาตามแต่ละ “พิมพ์” ตามที่ครูต้องการ ซึ่งพิมพ์ในที่นี้ก็เป็นสิ่งที่ดำรงไปในลักษณะของ Frame ในการกำหนดหรือบงการณ์ด้วยกับ Discipline ซึ่ง Discipline เอง ก็เป็นทั้งวิชาและวินัย ความเข้มข้นของกรอบในการสร้างคนจึงมีกระบวนวิธีชัดเจน ซึ่งความเป็นวินัยของ Discipline เริ่มมีความชัดเจนขึ้นในราวช่วงคริสตศตวรรษที่ 11-14 ในขณะที่คำว่า School ซึ่งมาจากคำว่า Schola ภาษาละติน มีความหมายว่าสถานที่พักผ่อน คำว่า Skhole ในภาษากรีกเองก็มีความหมายว่า เวลาว่าง ซึ่งการให้ความหมายในที่นี้ก็เป็นเรื่องของการสะท้อนวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆเกี่ยวกับสังคมแต่ละสังคมไป ในขณะที่การเรียนในสังคมไทย เรื่องระหว่างครูกับนักเรียนมักเป็นเรื่องของอำนาจ จรรยา และศีลธรรม ที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นตั้งแต่เข้าประตูโรงเรียนยันกลับบ้าน การมีผมทรงเดียวกัน เครื่องแต่งกายแบบเดียวกัน จึงเป็นความศักดิ์สิทธิ์ในความเคารพอย่างหนึ่ง ซึ่งความมีเกียรติของ “คุรุ”เองเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเคารพที่ดีให้เกิดขึ้นในตัวศิษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างคุรุกับศิษย์จึงดำเนินไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ การแสดงสัญญะผ่านพิธีกรรมเช่นการไหว้ครูจึงเป็นการแสดงความยอมรับทั้งการกระทำและคุณธรรมที่ศิษย์จะได้รับจากครูต่อไป ซึ่งการตั้งคำถามที่ถ้าทายต่อความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรในระบบความสัมพันธ์เช่นนี้

          ถึงกระนั้นต่อให้ความศักดิ์สิทธิ์จะบงการสิ่งใดไว้ กระแสธารแห่งเสรีนิยมใหม่เองก็รุนแรงเกินกว่าที่ดอกเข็มหรือธูปเทียนจะหยุดยั้งไว้ได้ แค่ความรู้ที่จะก่อให้ศิษย์เกิดความแตกฉานนั้นไม่เพียงพอ เงื่อนไขในการทำให้รู้ว่าใครควรหรือไม่ในกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่เข้าออกงานเป็นเวลาคือเครื่องวุฒิทางการศึกษา อย่างน้อยรัฐก็บังคับเกณฑ์ชัดเจนว่าประชาชนควรมีการศึกษาขั้นต่ำเท่าไหร่ แค่ไหน เพราะสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปตอบสนองต่อกลุ่มทุนผู้ผลิตในการที่จะรับคนเข้ามาเป็นแรงงานเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังในการผลิตตามความเหมาะสมทั้งตัวคนและงาน ต่อให้เป็นคุรุหรือดาบสผูแกร่งในวิชา หากไม่ผ่านสอบธรรมวินัย หรือมีวุฒิการศึกษาใด ก็เป็นได้แค่คนที่สังคมทุนในอุตวสาหกรรมไม่รองรับ และคนที่รับความรู้จากคนประเภทนี้ก็ไม่ได้มีคุณค่าอะไรต่อสังคมปัจจุบันมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสังคมที่กลไกตลาดเป็นไปแบบเสรีนิยมใหม่นี้

          ความเป็นครูที่เขาเปรียบว่าเป็นเรือจ้างจึงไม่ใช่เช่นนั้นอกีต่อไป หากแต่ความเป็นลูกจ้างต่างหากที่มีความเข้มข้นยิ่งกว่า อีกทั้งครูยังเป็นอาชีพทางเลือกของใครหลายๆคนที่ไม่ประสบผลในการใช้ปริญญาบัตรของตนให้เกิดในทางประจักษ์ต่อสาขาวิชาที่ศึกษามา การเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนเอกชนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการใช้สิทธิของใบปริญญาให้เกิดผลในสังคมที่มีแต่ความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นทีวีตู้เย็นที่จำเป็นต้องใช้ หรือหนี้ทางการศึกษาที่ติดค้างมา สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการแข่งขัน สถาบันทางการศึกษาเองตั้งแต่โรงเรียนยันมหา’ลัยก็ต้องแปรรูปตัวเองทั้งให้สอดรับกับการออกแบบของกระทรวงศึกษาธิการและความเป็นผู้ประกอบการในเวลาเดียวกัน

          คุณค่าของครูยุคเสรีนิยมใหม่ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสทุนจึงต้องเพิ่มสมรรถนะทางการทำงานมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากเตรียมแผนการสอนแล้ว ยังต้องไปอบรม สัมมนา และภาระไว้ให้กับนักเรียน หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม “เลข คัด เลิก”เองก็ตาม สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายต่อระบบการศึกษาและความไม่เอาอ่าวของครูก็เริ่มมีมากขึ้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นข่าวเด็กนักเรียนตั้งแต่เตรียมปฐมวัยยันมัธยม เกิดกรณีปัญหากับครู ทั้งเรื่องการใช้ความรุนแรงตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นการเหมารวม หากเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของความเป็นคนไม่ได้ใช้มาตรวัดแบบทุนนิยมที่ว่าจริยธรรมจะถูกวัดได้ด้วยใบประกอบวิชาชีพหรือปริญญาเพียงอย่างเดียว ยิ่งในปัจจัยโลกสมัยใหม่ที่ความรู้มีลักษณะที่เปิดกว้าง มีคอร์สเรียนต่างๆผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ความรู้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การมีแค่ครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีอยู่ในโรงเรียน อาจเป็นของล้าสมัยเกินกว่าที่จะไล่ตามความรู้ที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นแต่บางอาชีพก็ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญจริงๆเกินกว่าที่จะศึกษาเองเช่น วิชาทางด้านการแพทย์ (ซึ่งแพทย์เองก็ต้องทำหน้าที่ครูที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูแก่ศิษย์ที่ต้องเข้าใจศาสตร์ทางด้านการแพทย์นั้นด้วย) เป็นต้น

          อย่างไรก็ตามแต่ อำนาจของรัฐเองก็ได้สำแดงอำนาจให้เห็นแล้วว่า กลุ่มคนที่ถูกผลิตมาด้วยกระบวนการที่มีความชัดเจนถึงผลที่คาดว่าจะได้รับนั้นกำลังถูกรัฐมองเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกันสิ่งนี้ก็ได้สร้างความไม่พอใจแก่กลุ่มคนดังกล่าว ซึ่งเหตุผลจริงๆมันคงไม่ได้เป็นเรื่องของคุณค่าอะไร หากแต่เป็นเรื่องของพื้นที่ในผลประโยชนทางเศรษฐกิจในฐานะผู้ลงทุนที่จะถูกผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาช่วงชิงแข่งขันในพื้นที่นี้ ถึงกระนั้นไม่ว่าจะเป็นใครถูกฝึกฝนมาด้วยแนวทางแบบไหน ความเป็นครูที่ถูกสร้างทุกวันนี้ก็เป็นความเป็นครูที่ผลิตซ้ำภายใต้อุดมการณ์ของรัฐประชาชาติที่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้สร้างมูลค่าแก่สังคมไทยในแง่ของคุณค่าของความเป็นพลเมืองโลก มากกว่าการให้ความสำคัญกับการสร้างคนเก่ง ดี มีวินัย ใฝ่คุณธรรม(ซึ่งคุณธรรมนี้ก็เป็นคุณธรรมแบบที่รัฐประชาชาติกำหนดนิยามไว้แล้ว) ล้ำเลิศวิชา แล้วก็ยกย่องคนเหล่านี้ไว้ริมขอบรั้วโรงเรียน หวังจะได้เป็นจุดขายต่อๆไป “ครูหวังรวย”จึงเป็นแค่คำพูดติดตลกย้อมใจในสังคมเครื่องจักรที่ดำเนินไปในโลกเสรีนิยมใหม่ภายใต้บงการด้วยกับอุดมการณ์แห่งรัฐที่ต้องเช่าเขาอยู่เช่าเขากินและมีหนี้สินที่ต้องชดใช้ต่อไป

                

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

Contact

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *